หากคุณเคยลองเข้าใช้บริการ Coworking space สักครั้ง จะได้เห็นบรรยากาศที่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจสตาร์ทอัพ โปรแกรมเมอร์ หรือฟรีแลนซ์ในหลายสาขาอาชีพ มารวมตัวกันที่นี่ในพื้นที่ส่วนรวมสำหรับนั่งทำงาน แต่พวกเขาไม่ได้มาเพื่อนั่งทำงานกันเพียงเท่านั้น พื้นที่นี้ยังเป็นสถานที่ที่พวกเขาได้มานั่งพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่น ๆ มาเข้าร่วมกิจกรรม บางคนคุยไปคุยมา ถูกคอกัน ก็จับมือกันทำธุรกิจเกิดเป็นโปรเจคใหญ่โตให้เห็นกันหลายเคส ตอนนี้แม้สถานการณ์โรคระบาดจะทำให้ผู้ประกอบการต้องหยุดชะงักกันไปบ้าง แต่แนวโน้มการเติบโตไม่ได้ชะงักตามไปด้วยเลยค่ะ
รายงานฉบับล่าสุดปี 2021 จาก Research and Markets ที่เข้าไปสำรวจอัตราการเติบโตในตลาด Coworking space ทั่วโลก คาดการณ์ว่าในปึ 2021 market size ระดับโลกของธุรกิจ coworking space จะมีมูลค่าอยู่ที่ 21.15 พันล้านเหรียญสหรัญ จากเดิมในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าอยู่ที่ 19.40 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มที่มูลค่าจะสูงถึง 32.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2026 หรืออีก 5 ปีข้างหน้านี้เอง
เพราะอะไรถึงมีคนสนใจสร้างธุรกิจรูปแบบนี้มากขึ้นขนาดนี้ โมเดลธุรกิจคืออะไร แค่เก็บค่าเข้าใช้บริการจากสมาชิกจะได้รายได้เพียงพอสำหรับดำเนินธุรกิจจริงหรือ?
คำตอบคือ ไม่จริง เพราะรายได้ของธุรกิจ Coworking space มาจากหลายช่องทางและหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับเทคนิคการวางโมเดลธุรกิจของเจ้าของพื้นที่ ว่าจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดเป็นรายได้สูงสุดอย่างไรได้บ้าง ในบทความนี้จะมาดูโมเดลพื้นฐานที่สามารถสร้างกำไรจากธุรกิจรูปแบบนี้กันค่ะ
โมเดลรายได้ของธุรกิจ Coworking space หลัก ๆ แล้วมาจาก 2 ช่องทางด้วยกันคือ
1. Membership package: รายได้จากค่าสมัครสมาชิก
2. Space renting: รายได้จากการให้เช่าพื้นที่และอุปกรณ์
การเก็บค่าเข้าใช้บริการพื้นที่ Coworking space จะเก็บตามราคาแพ็กเกจสมาชิกที่ผู้ให้บริการกำหนดขึ้น ส่วนใหญ่จะออกแบบเป็นแพ็กเกจรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ราคาตลาดสำหรับ Coworking space ในไทยจะตกอยู่ประมาณ 100 - 500 บาท สำหรับการใช้บริการรายวัน และ 2,000 - 5,000 บาท สำหรับรายเดือน ซึ่งราคาของแต่ละแพ็กเกจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องทำเลที่ตั้ง ความสะดวกในการเดินทาง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและให้ความบันเทิงที่รวมอยู่ในแพ็กเกจ เป็นต้น และเทคนิคในการทำรายได้ก็อยู่ตรงนี้เช่นกันค่ะ ผู้ให้บริการสามารถเพิ่มข้อเสนออื่น ๆ นอกเหนือจากแพ็กเกจหลักพื้นฐาน เพื่อตอบสนองระดับความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละคนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมุมทำงานส่วนตัว แพ็คเกจใช้งานเครื่องปริ้นเตอร์และถ่ายเอกสาร ชั่วโมงการใช้งานห้องประชุม สิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ หรือล็อคเกอร์เก็บของ เป็นต้น ฉะนั้นอ่านความต้องการของลูกค้าคุณให้ออก และยื่นข้อเสนอที่พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธได้ค่ะ
อีกช่องทางหลักและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของธุรกิจ Coworking space คือการจัดสรรพื้นที่สำหรับเป็นสำนักงานให้เช่าค่ะ รายได้จากช่องทางนี้ได้ผลกำไรที่มากกว่ารายได้รูปแบบแรก และสามารถคืนทุนตั้งต้นธุรกิจได้รวดเร็วกว่า การจัดสรรพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ สำหรับเจ้าของธุรกิจ Coworking space ว่าจะแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าใด และความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลักนี้คืออะไร
โดยเฉลี่ยแล้วการจะเปิด Coworking space ควรจะมีพื้นที่อย่างน้อย 800 ตารางเมตร (อ้างอิงจากผลสำรวจโดย Deskmag) และตัวเลขนี้ก็มีแนวโน้มจะขยายออกไปอีก เพราะ Coworking space จำเป็นต้องขยายพื้นที่ใช้สอยเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีมากขึ้น
สัดส่วนพื้นฐานที่เจ้าของหน้าใหม่ใช้เป็นค่าตั้งต้นสำหรับออกแบบพื้นที่ Coworking space เป็นตามนี้ค่ะ
ภายในพื้นที่สำนักงานก็ต้องคำนวนต่ออีกค่ะ ว่าจะแบ่งพื้นที่สำหรับรองรับลูกค้าขนาดเท่าไหร่บ้าง สิ่งจำเป็นคือต้องสร้างห้องหลายขนาดค่ะ เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับขนาดองค์กรหรือขนาดทีมของพวกเขา
ห้องประชุมก็เช่นกันว่าต้องมีหลากหลายขนาด ห้องขนาดเล็กสุดสำหรับรองรับผู้ใช้งานจำนวน 3-4 ท่าน ไปจนถึงห้องประชุมขนาดใหญ่ที่สามารถจุได้ 14-16 ท่าน
สิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ควรมีในพื้นที่ส่วนนี้คือ โต๊ะที่เหมาะสำหรับนั่งทำงาน สมาชิกสามารถนั่งทำงานที่ใดก็ได้ โต๊ะรูปแบบนี้เราจะเรียกกันว่า hot desk ค่ะ และแน่นอนคือต้องจัดมุมสำหรับผู้ที่ชอบการทำงานแบบส่วนตัว ต้องมีมุมสงบ ๆ ให้ได้นั่งคิดงานด้วยค่ะ นอกจากนี้ก็ควรจัดโซนพิเศษสำหรับคุยโทรศัพท์สายสำคัญ ซึ่งจะไม่ไปรบกวนผู้ที่ทำงานอยู่ในโซนอื่น ๆ
พื้นที่ที่เหลือควรถูกจัดสรรมาเป็นพื้นที่สำหรับผ่อนคลายและพักผ่อน เช่น มุมครัว พื้นที่เก็บของ มุมอ่านหนังสือ มุมเล่นเกมส์ เป็นต้น
นอกจาก 2 ช่องทางรายได้หลักที่พูดไปแล้ว ก็ยังมีโมเดลอื่น ๆ ที่เจ้าของพื้นที่สามารถเพิ่มฟังก์ชั่นลงไปบนพื้นที่ตัวเองได้ ตามความถนัด หรือความชอบส่วนตัวของตัวเอง เช่น ทำสตูดิโอถ่ายภาพหรืออัดเสียง ทำคาเฟ่เล็กๆ ให้เช่าพื้นที่เก็บของ หรือสายอีเว้นต์ก็จัดงานขึ้นมาเองซะเลยก็ได้ เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่ยังมีพื้นที่ให้เจ้าของได้สร้างสรรค์ความเป็นตัวเองลงไปและปั้นมันขึ้นมาให้เป็นรายได้ได้อีกเยอะเลยค่ะ
พิเศษ สำหรับท่านที่มีพื้นที่อยู่แล้วและสนใจจะเริ่มทำ COWORKING SPACE ในกรุงเทพ รับ CODE ส่วนลด25% สำหรับ HUBBA COWORKING PRICING MODEL โปรแกรมที่ช่วยคุณกำหนดราคาห้องประชุมและราคา Private office ในเรทพื้นที่ของคุณ เพียงติดต่อเราทีนี่ และแจ้งรับส่วนลดไปเลย
- https://www.coworkingresources.org/blog/coworking-space-layout-breakdown-by-number