รับฟรี Checklist

เมื่อธุรกิจถูก Disrupt เราควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ?

July 22, 2022
Posted on

ฝันร้ายของนักธุรกิจใหญ่หลายท่านคือการที่ธุรกิจของตัวเองถูก disrupt จากธุรกิจหน้าใหม่ที่อยู่ ๆ ก็โผล่มาจากไหนไม่รู้ และแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดไปเพียงชั่วข้ามคืน บางธุรกิจที่ไหวตัวทันก็ยังสามารถหาช่องทางในการช่วงชิงอำนาจการแข่งขันในตลาดกลับมาได้ แต่บางธุรกิจที่ชะล่าใจ คิดว่าไม่ควรปรับตัวไปตามกระแส ก็ถึงขั้นล้มละลาย ต้องปิดฉากการดำเนินธุรกิจกันไปเลยทีเดียว

กรณีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ คงจะหนีไม่พ้น Blockbuster อดีตยักษ์ใหญ่แห่งวงการเช่าภาพยนตร์ ที่เจอศึกใหญ่จาก  Netflix น้องใหม่มาแรงที่เอาเทคโนโลยี streaming video เข้าสู้ ด้วยการใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่า การเข้าถึงที่สะดวกสบายกว่า รวมถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้อันดับ 1 ของโลกประสบปัญหาขาดทุน และล้มละลายลงในที่สุด แม้ภายหลังจะพยายามปรับตัวโดยหวังว่าชื่อเสียงที่สั่งสมมานานจะช่วยกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นบ้าง แต่ก็สายเกินไปแล้ว

Credit : The Strategy Journey

ดังนั้นจึงเกิดเป็นคำถามที่ว่าองค์กรควรจะมีแผนธุรกิจอย่างไรในสถานการณ์อย่างนี้เพื่อความอยู่รอด ?

คำตอบก็คือการวางแผน ‘นวัตกรรมทางธุรกิจ’ หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ การหาแนวคิดในการทำมาหากินแบบใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันนั่นเอง คำว่า ‘นวัตกรรม’ คือการสร้างความแตกต่าง ความแปลกใหม่ อาจจะเป็นที่ความคิด หรือวิธีการ ไม่ได้เป็นแค่ตัววัตถุที่จับต้องได้อย่างที่หลายคนเข้าใจ

แต่สำหรับองค์กรใหญ่ทั้งหลายที่ผ่านการประสบความสำเร็จมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตัดสินใจยกเครื่ององค์กรใหม่ทั้งหมด แล้วปรับไปตามกระแสธุรกิจใหม่ ที่ไม่สามารถจะคาดการณ์หรือเอาแน่เอานอนอะไรได้ หลายองค์กรที่พยายามปรับตัวก็ยังติดอยู่กับกรอบความสำเร็จเดิม ๆ ที่ใช้ตัวชี้วัดเดิม ๆ ในการประเมินผลการดำเนินงาน เช่น NPV (Net Present Value) หรือ IRR (Internal Rate of Return) ที่เน้นการทำตัวเลขให้ดูดี ด้วยการเลือกลงทุนในแผนการที่ใช้ระยะเวลาน้อยและทำเงินได้เร็วที่สุด ซึ่งหากตัวเลขบนผลชี้วัดเหล่านี้ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ แผนการก็จะไม่ได้รับการสนับสนุน หรือที่เคยได้รับเงินทุนไปแล้วก็อาจจะไม่ได้ไปต่อ

แล้ววิธีที่จะสนับสนุนนวัตกรรมทางธุรกิจคืออะไร ?

ก่อนอื่นเลยคือคุณต้องแยกแยะให้ออกก่อนว่าแผนธุรกิจของคุณนั้นเป็นแผนสำหรับสร้างนวัตกรรมใหม่หรือเป็นแค่แผนปรับเปลี่ยนภายในขององค์กร หรือไม่ใช่ทั้งคู่

McKinsey's Three Horizons of Growth

ลองกลับมานั่งทบทวนแผนธุรกิจของคุณโดยใช้กรอบความคิดทางการบริหารของ McKinsey เจ้าพ่อแห่งวงการนวัตกรรมทางธุรกิจ ที่ใช้ทฤษฎีที่ชื่อว่า The Three Horizons of Growth หรือ หลักสามเส้นขอบฟ้าแห่งการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งสำหรับนวัตกรรมทางธุรกิจจะตรงกับขอบฟ้าเส้นที่สาม คือ

- ยังเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเป้าไปยังผู้บริโภคในกระแสหลัก

- เน้นกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กที่มีปริมาณน้อยในตลาด

- เน้นผลกำไรเพียงเล็กน้อย ยังไม่หวังผลตอบแทนก้อนโต

- สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีราคาถูกและเข้าถึงได้ง่าย

ตัวอย่างธุรกิจรูปแบบนี้ เช่น Airbnb ที่นำแนวคิดธุรกิจแบบ sharing economy โดยการรวบรวมห้องพักทำเลต่างๆ ทั่วโลก ให้แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการหาที่พักราคาถูก และอยากซึมซับวิถีชีวิตท้องถิ่นแบบใกล้ชิด ซึ่งกว่าจะมาเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าถึงสามหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปีแรกพวกเขาทำรายได้ได้เพียง 200 เหรียญต่ออาทิตย์เท่านั้น แต่สามหนุ่มเพื่อนรักผู้ร่วมก่อตั้งไม่ลดละความพยายามจนเกิดไอเดียกว้านซื้อซีเรียลมารีแพคเกจใหม่โหนกระแสการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2008 จนได้เงินทุนก้อนใหม่ที่จะประทังชีวิตและธุรกิจของพวกเขาต่อไปได้

Credit : Michael Carney, Pando

ด้วยความที่รูปแบบนวัตกรรมทางธุรกิจเป็นลักษณะนี้ คือต้องลงทุนเวลาและความพยายามอย่างหนักกว่าจะเห็นผลตอบแทนที่คุ้มค่า นักธุรกิจในองค์กรใหญ่ ๆ จึงไม่ค่อยปลื้มสักเท่าไหร่ เพราะการที่ไม่สามารถทำผลประกอบการได้ตามตัวเลขและภายในระยะเวลาที่ตั้งเป้าไว้ องค์กรอาจจะเจอปัญหาราคาและมูลค่าของหุ้นที่ตกต่ำลงได้

องค์กรจึงต้องเสาะหาวิธีการดำเนินแผนพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมที่สุดกับองค์กรตัวเอง ซึ่งมีหลากหลายวิธี เช่น

- แยกการบริหารเฉพาะออกมาเป็นอีกภาคส่วน มีการดำเนินการ งบประมาณและมูลค่าของตัวเอง

- ลงทุนหรือทำความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพผ่านการทำนวัตกรรมแบบเปิด

- ปฏิรูปแบบสิ้นเชิง แต่วิธีการนี้มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จและอาจจะส่งผลกระทบต่อแก่นของธุรกิจได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีการปฏิรูปของแบรนด์ Dyson ที่เตรียมออกโครงการรถยนต์ไฟฟ้า แต่สุดท้ายก็ต้องพับแผนกลับบ้านไป

ปัจจุบันตัวเลขการร่วมมือกันระหว่างองค์กรใหญ่กับธุรกิจสตาร์ทอัพมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหลายองค์กรใหญ่เริ่มตระหนักได้ว่าไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรของตัวเองได้ทันเวลาในโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วพริบตา อีกทั้งการจะปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจภายในระยะเวลาอันสั้น การทำความร่วมมือกับสตาร์ทอัพ ดูจะเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และคุ้มค่ามากกว่า ในการพัฒนาเทคโนโลยี บนแผนธุรกิจใหม่ โดยทีมที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพราะสตาร์ทอัพไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบบริหารที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน เน้นการดำเนินงานที่รวดเร็ว จึงสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ไวกว่า

การปรับตัวสามารถเลือกทำได้หลายรูปแบบแล้วแต่ความเหมาะสมและวัตถุประสงค์ขององค์กร ติดตามอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการปรับตัวทางธุรกิจได้ที่ 7 ทางรอดธุรกิจในยุคนวัตกรรมครองเมือง


Graphic by: Yasumin Tamrareang

กดเพิ่ม HUBBA เป็นเพื่อน เพื่อติดตามข่าวสารและร่วมสนุกกิจกรรมอื่นๆ ได้แล้วที่ไลน์แอด @hubbathailand

เพิ่มเพื่อน

แชร์

จำนวนผู้เข้าชม

0000
คน

Darawadee Toonnew

Content Writer สายตระเวนเที่ยวถ่ายรูป แต่ใช้กล้องเป็นแค่โหมดออโต้ ชื่นชอบชานมไข่มุกหวาน 75% และใฝ่ฝันอยากเปิดฟาร์มแมว