ใครเคยติดเกมยกมือขึ้น! ทุกคนคงเคยผ่านช่วงเวลาที่ติดอะไรสักอย่างจนงอมแงมกันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเล่นเกมจนลืมวันลืมคืน การนั่งดูซีรีส์เกาหลีที่รู้ตัวอีกทีก็ฟ้าสว่างแล้ว หรือแม้แต่การกินข้าวตามสั่งเมนูเดิมไม่เปลี่ยนแค่เพราะมันอร่อยก็เท่านั้น
บทความนี้ผู้เขียนจะพามารู้จักกับศาสตร์ของการเล่นสนุก ที่จะเปลี่ยนทุกเรื่องรอบตัวคุณให้กลายเป็นเกม และให้คุณสนุกพร้อมพัฒนาธุรกิจหรือพัฒนาองค์กรคุณเองโดยไม่รู้เบื่อเลยทีเดียว
ศาสตร์ของการเล่นสนุกกับการพัฒนาองค์กรด้วย Gamification
Gamification คือ การนำกระบวนการที่ใช้ในการออกแบบเกมมาใช้ในบริบทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะกับเกมเท่านั้น เช่น การออกกำลังกาย การทำการตลาด หรือแม้กระทั่งการนำเกมมาใช้กับการเทรนนิ่งหรือการบริหารงานฝ่ายบุคคล
Gamification ไม่ใช่แค่การสร้างเกมขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานเพียงเท่านั้น เบื้องหลังกลไกเหล่านี้มีการออกแบบให้องค์ประกอบทุกอย่างทำงานสอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถตรึงผู้เข้าร่วมเกมได้ในระยะยาว ต่างจากการเล่นเกมทั่วไปตรงที่ เป็นการเล่นสนุกแบบมีเป้าหมาย ไม่ใช่เพียงการเล่นเพื่อความสนุกสนานแบบฉาบฉวย หมดสนุกก็จากไป
เบื้องหลังกระบวนการเหล่านี้มาจากศาสตร์ทางจิตวิทยาที่ใช้หลักการสร้างแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง โดยเติมองค์ประกอบความสนุก (elements of fun) เข้าไปเพื่อกระตุ้นให้ผู้เล่นหรือผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกยินดีและพร้อมทุ่มเทเพื่อทำพฤติกรรมนั้น ๆ ซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง จนเป็นอาการ ‘ติด’ (addict) ตัวอย่างพฤติกรรมเช่น การซื้อของชิ้นเดิมซ้ำ ๆ เพียงเพราะต้องการสะสมของรางวัลที่สุ่มแจกจากสินค้านั้น ๆ การลงแข่งวิ่งมาราธอนเพื่อสะสมเหรียญรางวัลให้ครบเซ็ต การสะสมแสตมป์จากการซื้อของในร้านสะดวกซื้อเพื่อแลกของรางวัล เป็นต้น
ศาสตร์ของการบริหารบุคคลเองก็ให้ความสนใจกับ ‘แรงจูงใจ’ และ ‘การมีส่วนร่วม’ ของคนในองค์กร เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคงและแข็งแรงในระยะยาว
ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งมีการนำแนวคิด Gamification ไปปรับใช้ในการบริหารงานบุคคลอย่างแพร่หลาย ด้วยโครงสร้างบริษัทที่ซับซ้อน มีพนักงานจำนวนมาก มีหลากหลายแผนก ช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างกันค่อนข้างกว้าง จึงเป็นโจทย์สำคัญของฝ่ายงานบุคคลที่ต้องเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนเหล่านี้ เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเอื้อต่อการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพออกมา
การนำแนวคิดดึงความสนุกมาใส่ในการทำงาน จึงสร้างผลลัพธ์ในแง่บวกให้แก่องค์กรอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและเหมาะสมกับแต่ละองค์กร จากรายงานโดย CEB Corporate Leadership Council พบว่าองค์กรที่พนักงานมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันส่งผลใหบริษัทสามารถสร้างผลประกอบการได้ไวกว่าบริษัทคู่แข่ง ถึง 3 เท่าตัว!!!
เพราะกลไกสำคัญที่ผลักดันองค์กรให้เติบโตก็คือ ‘คน’ นั่นเอง เมื่อทรัพยากรบุคคลขององค์กรมีความสุขกับการทำงาน ก็จะสามารถดึงศักยภาพภายในออกมาใช้กับการสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพได้ และแน่นอนผลลัพธ์ที่เกิดก็จะขยายเป็นวงกว้างออกไป ไปถึงเพื่อนร่วมงาน ไปถึงลูกค้าที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือการบริการ และไปถึงองค์กรโดยภาพรวมในที่สุด
นอกจากการใช้ gamification ในการสร้างสัมพันธ์ภายใน เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงานของคนในองค์กร ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกหลายแขนง เช่นการกระตุ้นการขายด้วยการสร้างสิ่งจูงใจในลูกค้าให้พวกเขากลับมาใช้สินค้าและบริการซ้ำ ๆ ซึ่งในทางอ้อมนี่เป็นอีกวิธีที่จะช่วยสร้างความภักดีต่อแบรนด์ (ฺbrand loyalty) ที่ลูกค้ามีต่อสินค้าและบริการนั้น ๆ ได้อีกเช่นกัน
ดังนั้น Gamification จึงเป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ใช้วิทยาศาสตร์ทางด้านพฤติกรรมมาใช้ในการสร้างแรงจูงใจให้แก่บุคลากรและยังเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้อย่างดีอีกด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังคิดว่าแนวคิดนี้สามารถใช้ได้กับองค์กรใหญ่ที่มีโครงสร้างบริษัทซับซ้อนเท่านั้นแต่แท้จริงแล้ว Gamification สามารถใช้ได้กับบริษัทขนาดเล็กหรือกับสตาร์ทอัพได้เช่นกัน
แล้วองค์กรของคุณล่ะ วันนี้ได้ทดลองนำ gamification ไปใช้ในกระบวนการทำงานของคุณแล้วหรือยัง? หากยังไม่พร้อม หรืออยากรับคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กร ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงได้ที่ HUBBA Thailand
Graphic by: Yasumin Tamrareang
กดเพิ่ม HUBBA เป็นเพื่อน เพื่อติดตามข่าวสารและร่วมสนุกกิจกรรมอื่นๆ ได้แล้วที่ไลน์แอด @hubbathailand