ที่ผ่านมาเราทำงานภายใต้กรอบปฏิบัติแบบเดิมและบทเรียนเดิม ๆ จากในอดีต ที่สั่งสอนว่าทำวิธีไหนแล้วจะเวิร์ค ทำวิธีไหนไม่เวิร์ค แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อปัจจุบันโลกเรากำลังตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า VUCA ทำให้บทเรียนในอดีตไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับสถานการณ์ในปัจจุบันอีกต่อไป ผู้นำที่ดีที่เป็นที่พึ่งพาและหาทางออกให้แก่ทุกคนได้ในสภาวะที่วุ่นวายแบบนี้จึงบุคคลที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง
“VUCA สถานการณ์ผันผวนที่ยากต่อการวางแผนรับมือ”
VUCA เป็นอักษรย่อมาจาก 4 คำในภาษาอังกฤษ V: Volatility (ความผันผวน) U: Uncertainty (ความไม่แน่นอน) C: Complexity (ความซับซ้อน) และ A: Ambiguity (ความคลุมเครือ) คำศัพท์นี้ปรากฏครั้งแรกในทฤษฎีผู้นำที่คิดขึ้นโดย Warren Bennis และ Burt Nanus กูรูด้านทักษะผู้นำ และเจ้าของผลงานเขียนที่โด่งดังไปทั่วโลก ‘Leaders: Strategies for Taking Charge’
ต่อมา วิทยาลัยการสงครามกองทัพสหรัฐฯ (US Army War College) นำศัพท์นี้มาใช้เรียกช่วงเวลาของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อันเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังคำนี้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายสภาพการณ์ในโลกธุรกิจอย่างแพร่หลาย จนถึงปัจจุบันที่คำคำนี้ถูกปลุกเป็นกระแสอีกครั้ง จากสภาวะความตึงเครียดและผันผวนที่ได้รับจากตัวการ Covid-19 ที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่
“3 เสาหลัก TEC ที่ใช้ในการรับมือกับโลกในสภาวะ VUCA”
Dr. Stefanie Puckett, นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาทักษะผู้นำแบบ agile
คิดหลักการจัดการสำหรับผู้นำองค์กรในสภาวะ VUCA ขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก (TEC) : Transparency, Empowerment, Collaboration
เสาหลักที่ 1 ความโปร่งใส (Transparency)
ท่ามกลางสภาวะที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนในปกครองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผู้นำต้องสร้างความเชื่อใจว่าจะหาทางออกให้แก่ทุกฝ่ายได้ สิ่งที่จะทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาได้คือผู้นำต้องแสดงความโปร่งใสใน 3 ด้านนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายรับรู้ชุดข้อมูลเดียวกัน ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน และมีเป้าหมายเดียวร่วมกัน
1. ด้านข้อมูล (Information and data)
2. ด้านแผนการและทิศทางในการดำเนินการ (Intention and plans)
3. ด้านผลลัพธ์และผลกระทบ (results and impact)
เสาหลักที่ 2 การเพิ่มขีดความสามารถของบุคคลใต้ปกครอง (Empowerment)
เมื่อคนในองค์กรเห็นภาพเป้าหมายเดียวกันและรับรู้แผนการดำเนินงานในภาพใหญ่แล้ว สิ่งสำคัญต่อมาคือการผลักดันให้พวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของพวกเขาเอง สิ่งที่ผู้นำควรดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรมีอยู่ด้วยกัน 3 ด้าน
1. ให้อิสรภาพ (Freedom) ในการปรับเปลี่ยน จัดการ ทดลองและสร้างสรรค์งานของพวกเขาเอง
2. ให้อำนาจรับผิดชอบ (Enablement) ในการตัดสินใจ หรือปรับเปลี่ยนแผนงานได้เองโดยไม่ต้องรอการอนุญาตจากคุณ
3. ให้ความเป็นเจ้าของ (Ownership) เพื่อที่พวกเขาจะได้รับผิดชอบการดำเนินงานในส่วนงานของเขาได้อย่างเต็มที่
เสาหลักที่ 3 การรวมพลัง (Collaboration)
ระบบการทำงานแบบ agile จะไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากคนในองค์กรยังต่างคนต่างทำงาน โดยไม่หันหน้าพูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพราะในแผนงานหนึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลที่มากมายและซับซ้อนเกินกว่าที่คน ๆ เดียว หรือคนกลุ่มเดียวจะรับมือได้ จึงจำเป็นต้องใช้การระดมความคิดร่วมกันจากทุกฝ่าย
3 สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นภายในองค์กร เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจสูงสุด
1. การแลกเปลี่ยน (Exchange) ความรู้ ความคิด ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ ระหว่างคนในองค์กร
2. การมีส่วนร่วม (Contribution) ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะอยู่ทีมเดียวกันหรือต่างทีม แต่ทุกคนยินดีจะให้ความเห็นที่มีประโยชน์ต่อกัน เพื่อพัฒนาผลลัพธ์ในการทำงาน
3. การเรียนรู้ (Learning) อย่างเปิดใจที่จะรับฟัง พัฒนาและเติบโตไปด้วยกัน แม้บางครั้งอาจจะมีความเห็นที่ต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายมีทัศนคติที่จะอยากเรียนรู้กันและกัน
สิ่งที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ทีละน้อย และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเริ่มต้นจากตัวพวกคุณ HUBBA Thailand เล็งเห็นความสำคัญทางด้านการพัฒนาบุคคลอันเป็นทรัพยากรสำคัญขององค์กร จึงมุ่งเน้นการให้บริการสำหรับพัฒนาองค์กรและพัฒนาบุคลากรด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้าน People Innovation ดูรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาโดยตรงกับเราได้ที่ People Innovation by HUBBA Thailand
แหล่งข้อมูล: https://www.vuca-world.org/empowering-people/
Graphic by: Yasumin Tamrareang
กดเพิ่ม HUBBA เป็นเพื่อน เพื่อติดตามข่าวสารและร่วมสนุกกิจกรรมอื่นๆ ได้แล้วที่ไลน์แอด @hubbathailand