เริ่มต้นก็ไปกันไม่เป็นซะแล้ว จะคุยกับ co-founder ยังไง ต้องคุยเรื่องอะไรบ้าง ถึงจะแบ่งผลประโยชน์กันได้อย่างแฟร์ ๆ และทำให้ทุกฝ่ายพอใจ อย่าปล่อยให้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ มาทำให้ความสัมพันธ์ต้องพังไปอีก! ธุรกิจจะดำเนินได้อย่างหมดกังวล หากคุยเรื่องการแบ่งผลประโยชน์กันให้ชัดจนตั้งแต่แรก เข้าใจธุรกิจและบทบาทของตัวเองและของเพื่อนร่วมทีม และหาตัวช่วยแบ่งเบาเรื่องที่ตัวเองไม่ถนัด
การเริ่มต้นธุรกิจ นอกจากความรู้เข้าใจเรื่องกฎหมายการจดทะเบียนบริษัท สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ความไว้ใจระหว่าง co-founder ในทีมผู้ก่อตั้ง การจะเลือกเพื่อนร่วมทางธุรกิจที่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมคะ เห็นกันมานักต่อนักแล้วกับกรณีเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ที่ต้องมาพังความสัมพันธ์ลงเพราะขัดกันเรื่อง ‘ผลประโยชน์’ หรือแม้แต่เป็นคนใกล้ตัวอย่างคนในครอบครัวก็หนีไม่พ้น เช่นในกรณีคดีฟ้องร้องมรดกครอบครัวน้ำพริกเผาแม่ประนอม เป็นต้น อย่างที่สำนวนเขาว่าไว้แหละนะคะว่า ‘คนใกล้ตัวนี่แหละร้ายที่สุด!’ ฉะนั้นใช้เวลาศึกษากันและกันให้ดีที่สุดจนมั่นใจก่อนแล้วค่อยไปต่อก็ไม่สายค่ะ
ปัญหาที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่มักเจอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยอย่างเรา ๆ ที่เติบโตมาในสังคมแห่งการถ้อยทีถ้อยอาศัย ถูกปลูกฝังให้ห้ามเถียงผู้ใหญ่ ทำอะไรให้นึกถึงจิตใจผู้อื่น ตื่นค่ะ! ความดีงามเหล่านี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรมีในมนุษย์ทุกคนก็จริง แต่สำหรับโลกธุรกิจ ‘ความเกรงใจ’ นี่แหละคือต้นเหตุของหายนะที่อาจตามมาได้!
หากมัวแต่เกรงใจ ไม่กล้าพูดความต้องการของตัวเอง หรือเริ่มต้นธุรกิจด้วยทัศนคติ ‘ยังไงก็ได้’ ไม่รอดค่ะ เพราะพอทำไประยะหนึ่ง มีแนวโน้มสูงที่รายได้จะเพิ่มสูงขึ้นจากในตอนแรก ทุกคนย่อมอยากได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นถูกไหมคะ ถึงจุดนั้นแหละค่ะ จะทำงานกันแบบครอบครัวขนาดไหนก็บ้านแตกได้เหมือนกัน บางรายก็ตัดปัญหาไปเลยด้วยการแบ่งครึ่ง 50:50 หรือไม่ก็ตัดสินใจไม่ร่วมทำธุรกิจกับคนใกล้ตัวเด็ดขาด แต่เดี๋ยวก่อน! ปัญหานี้มีทางแก้ และการเลือกคนที่รู้จักดีมาเป็น co-founder มีผลดีต่อธุรกิจคุณกว่าที่คิด เพียงแค่นั่งเปิดใจกับทีมและ คุย กัน ให้ รู้ เรื่อง ตั้ง แต่ ต้น !
ประเด็นที่ควรยกมาคุยกันมีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เกณฑ์ที่จะใช้ในการแบ่ง ใครคือตัวละครที่จะได้ส่วนแบ่งบ้าง แต่ละคนมีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ หรือจุดเด่นอะไรที่มีประโยชน์ต่อตัวธุรกิจและการเติบโตในอนาคต co-founder แต่ละคนจะร่วมลงทุนในรูปแบบเงินลงทุนหรือไม่ หรือลงแรงอย่างเดียว เป็นต้น หัวข้อในการคุยกันมีอยู่มากมายและหลากหลายกันไปตามรูปแบบธุรกิจ และสถานการณ์ที่แต่ละบริษัทเผชิญอยู่ หัวใจสำคัญเลยคือ ความพึงพอใจของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์ไหน จะให้ความสำคัญกับบทบาทใด ทุกคนในทีมต้องเห็นตรงกัน หรือหาจุดตรงกลาง และสรุปออกมาเป็นข้อตกลงที่จะใช้ร่วมกัน อาจจะกำหนดระยะเวลาเพื่อกลับมาคุยแก้ไขกันอีกทีในอนาคตไว้ก็ได้ค่ะ
โดยทั่วไปการแบ่งหุ้น จะแบ่งตาม ‘การลงทุน’ หรือ ‘การลงแรง’ ถ้าเป็นตามรูปแบบแรกจะไม่มีความซับซ้อนเท่าไหร่นัก สามารถคำนวณได้ตามมูลค่าของธุรกิจ สัดส่วนของเงินลงทุน และเกณฑ์อื่น ๆ ตามที่ทุกคนเห็นพ้องตรงกัน แต่ถ้าเป็นการแบ่งตามการลงแรง ซึ่งจับต้องได้ยากกว่ามากก็มักจะเกิดการถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าต้องใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวแบ่ง
เบื้องต้นสามารถใช้เกณฑ์เหล่านี้เป็นปัจจัยที่นำไปใช้ในการคำนวณได้ค่ะ
1. รูปแบบธุรกิจ
2. ค่าประสบการณ์และไอเดียธุรกิจ
3. บทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ
ในวงการ startup เราแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน โดยพิจารณาว่าธุรกิจเป็น non-tech company หรือ tech company ความสำคัญของหน้าที่ที่รับผิดชอบในแต่ละรูปแบบธุรกิจก็จะแตกต่างกันค่ะ หากเป็นบริษัทที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการเป็นรูปแบบเทคโนโลยี อัตราส่วนการคำนวณหุ้นให้แก่ทีม Tech ก็จะมีน้ำหนักมากกว่าทีมอื่น และในทางกลับกันก็เช่นกัน
ปัจจัยต่อมาที่สำคัญต่อสัดส่วนหุ้นของบริษัทคือ ได้แก่ หน้าที่ที่รับผิดชอบ ระดับการมีส่วนร่วม การสร้างประโยชน์ให้แก่บริษัท รวมถึงค่าประสบการณ์ ค่าความคิด ค่าทักษะในด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ สำหรับธุรกิจ startup จะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบออกเป็น 3 ด้านคือ Tech (Dev), Business, และ Designer ลองนึกภาพตามง่าย ๆ เช่นจากในซีรีส์เกาหลีชื่อดัง Start-Up ที่มี 3 หนุ่มนักพัฒนาจากซัมซานเทค ที่อยู่ฝ่าย Tech ซอดัลมี นางเอกมากความสามารถทีรับหน้าที่ดูแลฝ่าย business และสาวฮอตอย่าง จองซาฮา ที่ควบคุมการออกแบบและดีไซน์ต่าง ๆ ให้กับทีม
คุยกับทีมและรู้เกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการบริหารสัดส่วนหุ้นแล้ว แต่จะคำนวณอย่างไรต่อล่ะทีนี้ เปิดหาข้อมูล หรืออ่านตามกระทู้ถาม-ตอบ ก็ยังยากที่จะคิดตาม ตัวเลขอะไรไม่รู้งงไปหมด เดี๋ยวนี้มีนักพัฒนาหัวกะทิหลายท่านได้ออกแบบเครื่องมือเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีหลักตั้งต้นในการแบ่งหุ้นกับทีมงานหรือกับนักลงทุน เช่น Co-founder Equity Split ของ gust และ Slicing Pie ส่วนนักพัฒนาในไทยเราก็ไม่น้อยหน้า อย่าง HUBBA Thailand เองก็เพิ่งจะปล่อยเครื่องมือสำหรับการคำนวณสัดส่วนหุ้นที่ชื่อว่า Startup Equity Calculator: SEC ออกมาให้ใช้งานเช่นกันค่ะ
เครื่องมือ framework ที่คิดขึ้นโดย Gust แพลตฟอร์มของ investor ระดับโลกที่ให้การสนับสนุน startup ที่มีศักยภาพในการเติบโต ด้วยเครื่องมือนี้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ในการพูดคุยกับทีมเพื่อหาสัดส่วนการแบ่งหุ้นผ่านการตอบคำถามที่ชวนมองใน 2 มุมด้วยกัน
1. Backward: มองย้อนถึงประสบการณ์ ทักษะ พื้นเพของแต่ละคน
2. Forward: มองถึงหน้าที่รับผิดชอบที่แต่ละคนมีและผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคต
เครื่องมือ slicing pie นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณสัดส่วนหุ้นแล้วยังเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถชักชวน co-founder หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในบริษัทเข้ามาดูสถานะและมูลค่าของบริษัทบนแพลตฟอร์มตัวนี้ได้ แต่การจะเข้าไปแก้ไขข้อมูลจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจของบริษัทก่อนนะคะ จึงจะปรับเปลี่ยนการคำนวณได้ นอกเหนือจากเครื่องมือนี้จุดแข็งของ Slicing Pie เค้าคือการให้คำปรึกษาทางด้านกฏหมายค่ะ แต่น่าเสียดายพื้นที่ให้บริการยังไม่ครอบคลุมมาถึงในไทย แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะขยายมาถึงเราค่ะ
เครื่องมือใช้งานง่ายจากนักพัฒนาของไทย ได้ผลคำนวณรวดเร็วเพียงตอบคำถามสำรวจรูปแบบธุรกิจและโครงสร้างของทีมภายใน เกณฑ์ที่นำมาพิจารณประกอบการคำนวนคือ รูปแบบธุรกิจ ค่าประสบการณ์ ค่าไอเดีย และบทบาทหน้าที่ที่สำคัญต่อการเติบโตของบริษัท หากทีมไม่พอใจในผลลัพธ์หลังการคำนวนก็สามารถกลับมาแก้ไขข้อมูลที่ป้อนเข้าไปในระบบได้ไม่จำกัดครั้ง จนกว่าจะได้สัดส่วนที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ
หากตั้งต้นไม่ถูกไม่รู้จะเอาอะไรไปคุยกับทีม ลองใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นเครื่องช่วยที่ทำให้คุณคุยกับ co-founder ของคุณได้ง่ายขึ้นค่ะ ศึกษาและเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ รูปแบบการลงทุนของคุณ และหัวใจสำคัญเลยคือ การเปิดใจคุยกันอย่างจริงใจ พูดถึงความต้องการของตัวเอง แฟร์กับตัวเองให้มากและต้องแฟร์กับเพื่อนร่วมทางธุรกิจของคุณด้วยนะคะ