การทำธุรกิจมีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่ทำให้คุณล้มได้ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่ม บทความนี้จะพาไปรู้จักแนวคิดที่สามารถ ‘ลดความเสี่ยง’ จากการผลิตสินค้าหรือบริการออกสู่ตลาดแล้วไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนใช้!!! จะทำอย่างไรให้เจ็บตัวน้อยที่สุด แล้วลุยต่อได้ให้เร็วที่สุด ไปรู้จักกับการทำ PoC และ Prototype แนวคิดที่คนทำธุรกิจทุกคนต้องรู้กันเลยค่ะ
PoC หรือ Proof of Concept คือ กระบวนการทดสอบไอเดียธุรกิจก่อนเริ่มโปรเจค เสมือนการทดลองเล็ก ๆ ว่าไอเดียนั้น ๆ สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ หรือคุ้มค่าที่จะนำไปพัฒนาต่อไหม เป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญในขั้นตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ ทั้งในแง่ของเวลาและทรัพยากร เพราะคงไม่มีใครอยากจะเสียเงินเปล่า ๆ ไปกับสินค้าที่จะขายไม่ได้ หรือใช้งานจริงไม่ได้ถูกไหมคะ
จากภาพประกอบด้านบนจะเห็นกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เริ่มจากหาไอเดียหรือสมมุติฐานเพื่อแก้ปัญหา ไอเดียที่คิดในขั้นแรกจะนำมาทดสอบความเป็นไปได้ว่าจะไปรอดไหมในขั้นตอนการทำ PoC จากนั้นหากไอเดียหรือสมมุติฐานได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำได้จริงหรือแก้ปัญหาได้ ก็จะนำไปสร้างเป็น Prototype ในขั้นต่อไป
1. Duration & Effort
PoC เป็นแค่การทดสอบเล็ก ๆ ฉะนั้นอย่าใช้เวลากับมันนาน หรือใช้ทรัพยากรทุ่มเทกับสิ่งนี้มากไป ระยะเวลาที่เหมาะสมไม่ควรนานเกิน 2 สัปดาห์ และใช้แรงงานในการทำทดสอบนี้แค่ 2 คนก็พอ
2. Scope of Project
วางกรอบการทดสอบนี้ให้ดีว่าจะโฟกัสไปที่การหาคำตอบเรื่องใด หากโฟกัสผิดจุดแรงและเวลาที่ทุ่มไปก็จะสูญเปล่า และผลลัพธ์ของการทดสอบก็อาจจะไร้ประโยชน์ไปด้วย
3. Pick Your Resources
เลือกใช้คนให้ถูกกับงาน หากไม่มั่นใจหรือยังมีประสบการณ์ไม่มากพอ ให้หาผู้ช่วยที่สามารถให้คำปรึกษาในเรื่องนี้ได้
4. Choose Your Criteria
ตั้งเกณฑ์การวัดผลเพื่อเป็นตัวกำหนดว่าผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าใช้งานได้หรือไม่ คุณอาจจะทำการทดสอบด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย และให้คำตอบของพวกเขาเป็นตัววัดความสำเร็จ แต่การตั้งคำถามของคุณต้องมีกรอบที่ชัดเจนและชี้นำไปสู่เป้าหมายของการทำการทดสอบนี้
Prototype คือ การสร้างต้นแบบของผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยให้เห็นภาพว่าผลิตภัณฑ์ที่คิดในหัวจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ลองจินตนาการง่าย ๆ ถึงเวลาสร้างบ้านก็ได้ค่ะ เราต้องวาดแปลนและหน้าตาของบ้านลงกระดาษร่างแบบก่อน เพื่อที่จะได้มองภาพบ้านที่สมบูรณ์ออกว่าจะต้องใช้วัสดุอะไร ต้องสร้างอย่างไร แต่ละส่วนของบ้านสามารถเพิ่มเติมหรือลดฟังก์ชั่นการใช้งานอะไรได้บ้าง
เหมือนกันกับการทำ prototype เลยค่ะ เพราะภาพร่างต้นแบบนี้ช่วยให้เห็นภาพที่สมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ที่ก่อนหน้านี้ยังเป็นนามธรรมอยู่ในหัว ออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันมากขึ้น และเป็นตัวนำทางในการสร้างสินค้าและบริการต่อไปได้
เมื่อเทียบกันจะเห็นความต่างอย่างชัดเจนว่าการทำ PoC เป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่าไอเดียที่คิดไว้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง หรือเป็นที่ต้องการของตลาด แต่การสร้าง prototype คือการแสดงวิธีการสร้าง วิธีการใช้งาน หรือรูปร่างหน้าตาของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
ซึ่งในขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จริง ไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอนด้านบนเสมอไปค่ะ ถ้าพิจารณาตามวัตถุประสงค์แล้ว อาจจะเลือกทำเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้าต้องการทดสอบไอเดียเพื่อทำให้มั่นใจว่าแนวทางในการแก้ปัญหานั้นได้ผลจริง ก็ทำแค่ PoC หรือต้องการอธิบายภาพให้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์จะใช้งานอย่างไร จะมีหน้าตาอย่างไร ก็สร้าง Prototype ได้เลย
- https://www.fool.com/the-blueprint/proof-of-concept/
- https://searchcio.techtarget.com/definition/proof-of-concept-POC
- https://www.nesta.org.uk/blog/proof-of-concept-prototype-pilot-mvp-whats-in-a-name/
- https://productschool.com/blog/product-management-2/difference-prototype-mvp/
- https://softjourn.com/insights/difference-poc-prototype-mvp
- https://www.projectmanager.com/blog/proof-of-concept-definition
- https://program-ace.com/blog/poc-prototype-mvp