คงจะใช้คำว่าโมเดลธุรกิจใหม่ได้ไม่เต็มปากนัก สำหรับ ‘Venture Builder’ ที่กระแสทั่วโลกเริ่มลงมือทำกันไปพักใหญ่ ๆ แล้ว แต่พี่ไทยของเรากลับยังไม่บูมเท่าที่อื่นเขา…
บทความนี้ผู้เขียนจะพามารู้จัก Venture Builder ให้มากขึ้น ว่าทำไมนักลงทุนต่างชาติถึงหันมาให้ความสนใจธุรกิจรูปแบบนี้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนในธุรกิจต่อไป
Venture Builder (บางที่ก็เรียกว่า Startup Studio, Startup Factories หรือ Company Builder) เปรียบเสมือนโรงงานผลิตสตาร์ทอัพออกสู่ตลาด พวกเขาคือองค์กรที่มุ่งมั่นปั้นธุรกิจขึ้นใหม่ตั้งแต่ศูนย์และพัฒนาจนเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและสามารถขยายการเติบโตออกไปได้
สิ่งที่พวกเขาทำคือการหาทีมงานที่มีไอเดียตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือมีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาเฉพาะด้านเข้าสู่โครงการ และคอยให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น เงินทุน องค์ความรู้ คอนเนคชั่น คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น ซึ่งการเข้าไปให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงหรือความกังวลของทีมสตาร์ทอัพ ช่วยให้พวกเขาสามารถจดจ่อกับการสร้างผลิตภัณฑ์หรือการวางแผนทางธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ทำให้ธุรกิจเติบโตไวและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น
จากนิยามข้างต้นจะเห็นภาพว่า Venture Builder คือตัวองค์กร หรือบุคคลที่ดำเนินธุรกิจหรือให้บริการดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้แก่องค์กรอื่น ๆ แต่จะมีอีกคำหนึ่ง ที่หลายคนสงสัยว่ามันแตกต่างกับคำนี้อย่างไร นั่นก็คือ Venture Building คำตอบคือในเชิงความหมายไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย เพียงแต่ Venture Building จะหมายความถึง กิจกรรม การกระทำ หรือขั้นตอนการดำเนินการ ที่องค์กรนั้น ๆ ปฏิบัติ ไม่ใช่ตัวองค์กรหรือตัวบุคคล
โมเดล Venture Builder แท้จริงแล้วมีมานานตั้งแต่ปี 1996 จากบริษัทต้นแบบที่มีชื่อว่า Idealab ซึ่งนับมาจนถึงทุกวันนี้ได้สร้างบริษัทสตาร์ทอัพออกมาแล้วกว่า 100 บริษัท และจาก 100 บริษัทนี้ มีจำนวนถึง 5% ที่สามาถขยายการเติบโตของธุรกิจไปถึงขั้น Unicorn ได้
บริษัทเจ้าอื่น ๆ เมื่อได้เห็นความสำเร็จของ Idealab ก็พากันปรับตัวตาม หรือสร้างธุรกิจรูปแบบนี้ตาม จนเกิดเป็น Venture Builder ที่เรารู้จักกันหลายชื่อในปัจจุบัน เช่น Rocket Internet, Founders Factory, Betaworks เป็นต้น ส่วนในไทยนับว่ายังมีน้อยมาก ๆ ที่เป็นที่รู้จัก เช่น SCB10x, KBTG และที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ อย่าง InVent Builder powered by INTOUCH x HUBBA Thailand
หลักฐานความสำเร็จชิ้นสำคัญของโมเดลธุรกิจ Venture Builder เห็นได้ชัดจากรายงานของ GSSN, 2020 (Global Startup Studio Network) เกี่ยวกับจำนวนของ Venture Builder ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี ในวงการสตาร์ทอัพ เพราะมีนักลงทุนหันมาให้ความสนใจในรูปแบบธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แปรผันตรงตามเปอร์เซนต์ความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่โตมาจากบริษัทเหล่านี้
กรณีศึกษาของ บริษัท High Alpha เห็นจะเป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จของโมเดลธุรกิจ Venture Builder High Alpha ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 จนถึงปัจจุบัน ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปีสร้างสตาร์ทอัพออกสู่ตลาดไปแล้ว 21 บริษัท อาทิเช่น MetaCX, Base, Zylo, Anvl เป็นต้น ซึ่ง CEO ของบริษัทเหล่านี้ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าระบบโครงสร้างธุรกิจรูปแบบนี้ ช่วยทำให้ไอเดียธุรกิจของพวกเขาเกิดขึ้นจริงภายในระยะเวลาอันสั้น จากความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จาก High Alpha และการร่วมมือทำธุรกิจกับ High Alpha ยังช่วยให้นักลงทุนมั่นใจที่จะลงทุนกับบริษัทมากขึ้นอีกด้วย เพราะมีพี่เลี้ยงในการทำธุรกิจชั้นดีอยู่ข้าง ๆ จึงวางใจได้ว่าโอกาสที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จและขยายการเติบโตออกไปได้มีสูง
ในโลกของ corporate ที่ตอนนี้ต่างก็พยายามหาช่องทางการลงทุนใหม่ เพื่อหลีกหนีการถูก disrupt ดูเหมือนว่าในตอนนี้การลงทุนแบบเก่าดูจะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรเสียแล้ว
เราลองมาเปรียบเทียบดูการลงทุนในแบบดั้งเดิมและแบบนวัตกรรมใหม่กันค่ะ
1. Traditional Company Investing - บริษัทลงทุนในหลากหลายช่องทาง หลากหลายบริษัท โดยคาดการณ์ว่าต้องมีสักที่ที่ได้ผลกำไรดีตอบแทน
2. Innovative Company Building - บริษัทโฟกัสที่ตัวปัญหาและความต้องการโดยตรง และให้คนที่มีศักยภาพตรงกับปัญหาหรือความต้องการนั้นๆเข้ามาแก้ไข โดยใช้ทรัพยากรภายในบริษัทคอยสนับสนุน (ข้อมูล ความรู้ ทักษะ คอนเนคชั่น เป็นต้น) และค่อย ๆ พัฒนาทีมไปพร้อมกับการสร้างธุรกิจ จนสามารถขยายการเติบโตในตลาดได้
Venture Builder ถือเป็น disruption ต่อระบบธุรกิจรูปแบบหนึ่ง เพราะโมเดล Venture Builder เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการสร้างธุรกิจหรือการสร้างผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด อีกทั้งยังมีจุดแข็งที่เป็นข้อได้เปรียบเหนือการลงทุนทางธุรกิจในรูปแบบเดิมคือ
- Valuable resources : Venture Builder มอบการสนับสนุนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการสร้างธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพที่เป็นพาร์ทเนอร์กัน ซึ่งช่วยให้ฝั่งสตาร์ทอัพทำงานได้อย่างหมดกังวล สามารถจดจ่อกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างรายได้ หรือการหาช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเต็มที่
- Accelerated speed to funding : เมื่อทีมงานสตาร์ทอัพสามารถดึงประสิทธิภาพในการทำงานออกมาได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาที่สั้นลง ด้วยเหตุนี้การระดมเงินทุนจากนักลงทุนภายนอกจึงทำได้ไวขึ้น โอกาสที่จะขยายธุรกิจ (scale-up) ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
- Solving the world’s needs : ระบบการทำงานแบบ Venture Builder มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง พวกเขาสามารถเข้าถึงปัญหาหรือความต้องการในตลาดได้อย่างตรงจุดจากช่องทางเหล่านี้
1. ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีไอเดียในการแก้ปัญหา และสนใจร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Venture Builder
2. Corporate ระบุปัญหาของตัวเองและยื่นโจทย์ให้ผู้เชี่ยวชาญใน Venture Builder หาทางแก้ไข
3. นักลงทุนที่มองเห็นโอกาสในการลงทุน หยิบยื่นโจทย์ปัญหาที่พวกเขามองว่าจะเป็นโอกาสในการลงทุนครั้งต่อไปของพวกเขา
4. ทีมงานภายในของ Venture Builder เอง ที่ชี้ให้เห็นปัญหาหรือความต้องการที่มีอยู่
จากองค์ความรู้ที่สั่งสมเรื่อยมาผ่านการผลิตบริษัทสตาร์ทอัพออกสู่ตลาดนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้โมเดลธุรกิจ Venture Builder ยิ่งแข็งแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเรียนรู้ผ่านความผิดพลาด และนำมาทดลองปรับใช้ ด้วยเหตุนี้ Venture Builder จึงเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นอีกในอนาคต
แม้ในไทยจะยังไม่ได้ให้ความสนใจรูปแบบธุรกิจนี้เท่าไหร่นัก แต่ก็มีหลายองค์กรใหญ่เริ่มหันมาคิดถึงช่องทางการลงทุนรูปแบบนี้กันมากขึ้น ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นแบบอย่างการลงทุนให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้ เพื่อช่วยสนับสนุนการวงการสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตอย่างแข็งแรงต่อไป องค์กรที่สนใจการลงทุนในรูปแบบสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ HUBBA Thailand หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่