เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็หันมาสร้างโปรแกรม venture builder ในองค์กรของตัวเอง เช่น ปตท. โดยทีม ExpresSo, Intouch Holdings กับโครงการ Invent Builder, Pruksa กับโครงการ Pruksa Next
แต่เดี๋ยวก่อน! ใช่ว่าแค่ตั้งทีมสักทีมหรือจัดทำโครงการสักโครงการขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปั้น startup ให้พัฒนานวัตกรรมให้แก่องค์กร แล้วจะเรียกว่า ‘Venture Builder’ ไปเสียหมด
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาผู้ประกอบการนักอ่านทุกท่านไปทำความเข้าใจกับโมเดล Venture Builder ให้ชัด ๆ เคลียร์ ๆ กันไปเลย ว่ามีความแตกต่างกับโปรแกรมปั้น startup โครงการอื่น ๆ อาทิเช่น Accelerator และ Incubator อย่างไร
Incubator เปรียบเสมือน ‘พ่อแม่’ ที่คอยประคบประหงม ‘ทารกตัวน้อย’ ให้สามารถตั้งตัวได้เมื่อก้าวเท้าสู่วงการ startup
Incubator คือโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการในระยะตั้งต้นที่มีไอเดียธุรกิจแต่เริ่มต้นไม่ถูก เป้าหมายคือการวางรากฐานธุรกิจ startup ให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาไอเดีย จัดหาทีมงาน วางแผนโมเดลธุรกิจ จนกระทั่งสร้างผลิตภัณฑ์ตั้งต้น (Minimum Viable Product: MVP) ขึ้นมา เพื่อใช้ในการประเมินตลาด และหา product-market fit รวมไปถึงอำนวยความสะดวกในด้านอื่น ๆ เช่น สถานที่ อุปกรณ์และเครื่องใช้ที่จำเป็น การเข้าถึงเครือข่ายทางธุรกิจ เป็นต้น
สำหรับ corporate หรือหน่วยงานราชการ ผู้เป็นเจ้าของโครงการ ในบทบาทเสมือน ‘พ่อแม่’ ที่สอนลูก ๆ ตั้งแต่การเดินก้าวแรก แน่นอนผลลัพธ์ที่เห็นเด่นชัดอันเป็นเป้าหมายของโครงการ คือ ความสำเร็จของผู้ประกอบการ startup ซึ่งในฐานะ ผู้ที่ปั้นความสำเร็จนี้ขึ้นมาด้วยมือของตัวเอง ย่อมมีโอกาสเล็งเห็นศักยภาพในการลงทุนกับลูก ๆ ของตัวเองก่อนใคร คุณจึงเป็นผู้ที่ได้เปรียบในสนามลงทุนแห่งนี้
ส่วนผลตอบแทนในรูปแบบอื่นที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน อาจจะเป็นในรูปแบบของเปอร์เซนต์หุ้นส่วนเล็กน้อยตามที่ตกลงตั้งแต่ต้นโครงการ หรือบางโครงการก็เป็นในรูปแบบค่าธรรมเนียมเข้าโครงการที่เก็บจากผู้ประกอบการ startup
Accelerator เปรียบเสมือน ‘ติวเตอร์’ ที่ชี้ช่องทางให้นักเรียนเรียนรู้หรือเติบโตได้ไวและแข็งแรงที่สุด ภายในระยะเวลาอันสั้น
จุดประสงค์หลักของโครงการ Accelerator คือ การเร่งการเติบโตธุรกิจ (scaling) ให้แก่ startup ในโครงการ ฉะนั้นผู้เข้าร่วมโครงการก็จะแตกต่างไปจากโครงการ Incubator ตรงที่ผู้ประกอบการจะต้องจัดตั้งบริษัท startup ของตัวเองขึ้นมาแล้ว มี MVP แล้ว มีแผนธุรกิจ (business model) แล้ว และมีฐานข้อมูลการใช้งานผลิตภัณฑ์ (traction) มาบ้างแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการขยายการเติบโต ซึ่งการจะเติบโตได้ ปัจจัยหลักไม่ใช่การหาแหล่งเงินทุนเพียงอย่างเดียว ธุรกิจอาจจะมีจุดบกพร่องอื่นที่ต้องการการแก้ไขก่อนถึงจะไปต่อได้
ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีผู้ให้การสนับสนุนอย่าง Accelerator เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาเฉพาะทาง การฝึกอบรม การเชื่อมเครือข่ายทางธุรกิจ การช่วยหาแหล่งเงินทุน หรือเข้ามาเป็นแหล่งเงินทุนให้เองเสียเลย ระยะเวลาโครงการโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3 - 6 เดือน ผลตอบแทนจากการดำเนินโครงการก็คือการได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท startup ที่ตัว corporate หรือหน่วยงานราชการมีความมั่นใจในการเติบโตทางธุรกิจ เพราะเป็นเด็กที่ปั้นมาเองกับมือ จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่หลายองค์กรเลือกเป็นเครื่องมือทางการลงทุน เพราะใช้เวลาที่สั้น และมีแนวโน้มได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
ถ้า Incubator เสมือน พ่อแม่ Venture Builder ก็เปรียบเสมือน ‘พ่อแม่บุญธรรม’ ที่คัดเลือกผู้ประกอบการมาดูแลราวกับลูกของตัวเอง และคอยส่งเสียในด้านต่าง ๆ จนได้ดิบได้ดี
จากบทความ Venture Builder โมเดลธุรกิจใหม่ในไทยที่ทั่วโลกเค้าสำเร็จกันไปนานแล้ว เราอธิบายถึงโมเดลธุรกิจและความเป็นมาของ Venture Builder กันไปแล้ว
ความต่างจากโครงการสร้าง startup ที่กล่าวไปข้างต้นมีดังนี้
- Venture Builder มีระดับการให้ความช่วยเหลือเฉพาะทางที่เข้มข้นกว่า ด้วยผู้เชี่ยวชาญตรงในด้านนั้น ๆ เช่น ด้านการเงินและบัญชี ด้านการตลาด ด้านการจัดการบุคคล เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ startup ในโครงการตรงที่พวกเขาสามารถจดจ่อกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การหาเงินทุน การวางแผนการเติบโตของธุรกิจ โดยมีทีมงานเฉพาะทางคอยซัพพอร์ตในด้านอื่น ๆ ที่พวกเขาไม่ถนัด
- ระยะเวลาของแต่ละโครงการก็มีความแตกต่างกัน Accelerator และ Incubator จะเป็นโครงการระยะสั้น เฉลี่ย 3 เดือน - 1 ปี จบโครงการต่างคนต่างแยกย้ายไปทำธุรกิจของตัวเอง แต่ Venture Builder คือการทำงานร่วมกันในระยะยาว ถึงจะจบโครงการแล้วก็ยังทำงานร่วมกันต่อ เพราะถือเป็นธุรกิจในเครือเดียวกัน เพียงเปลี่ยนบทบาทการบริหารกันใหม่ ตามแต่ตกลงกัน ในลักษณะเช่น startup founder จบโครงการก็ได้ขึ้นเป็น ประธานบริหารของบริษัทนั้น ๆ ไป อาจจะยังคงทำงานร่วมกับทีมงานเดิมหรือไม่ก็ได้ เป็นต้น
- Venture Builder ให้ค่าตอบแทนแก่ startup ในโครงการ เป็นรูปแบบเงินเดือนตลอดทั้งโครงการ พร้อมให้การสนับสนุนด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น ส่วน Accelerator และ Incubator ผู้จัดโครงการเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนในรูปแบบเงินลงทุนก้อนหนึ่ง แลกกับการเป็นหุ้นส่วนในบริษัทเท่านั้น
- ผลลัพธ์ปลายทางของแต่ละโครงการก็ไม่เหมือนกัน ท้ายที่สุดแล้ว Venture Builder จะได้ธุรกิจขึ้นมาใหม่หนึ่งธุรกิจซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการของ corporate หรือหน่วยงานราชการเจ้าของโครงการแบบเต็มรูปแบบ (เสมือนเกิดบริษัทลูกขึ้นใหม่อีกบริษัทนั่นเอง) ส่วนโครงการ Incubator และ Accelerator ผู้ประกอบการจะถืออำนาจดำเนินงานในธุรกิจ startup ของทีมตัวเองโดยเบ็ดเสร็จ corporate หรือหน่วยงานผู้จัดทำโครงการอาจเป็นแค่ผู้เข้ามาลงทุนในขั้นต่อไปหรือเป็นเพียงหุ้นส่วนตามสัดส่วนที่ตกลงกัน
ทุกโครงการมีข้อดีและข้อเสียในตัวเองแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์กรพิจารณาตัดสินตามความเหมาะสมกับรูปแบบและเป้าหมายทางธุรกิจของตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือการพิจารณาเลือกพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมที่จะเข้ามาดำเนินโครงการให้แก่คุณ ด้วยประสบการณ์กว่าสิบปีที่ HUBBA Thailand ได้เข้าไปให้ความช่วยผู้ประกอบการไทยในการสร้างนวัตกรรมผ่านโครงการเหล่านี้ พร้อมทั้งเครือข่าย startup อันเหนียวแน่นที่เรามี เรามั่นใจอย่างยิ่งว่าไม่มีใครเหมาะสมจะเป็น ‘ไกด์ทางธุรกิจ’ คอยเคียงข้างคุณได้ดีเท่าเราแล้ว
ติดต่อเพื่อขอเข้ารับบริการหรือดูรายละเอียดเกี่ยวกับการให้บริการของเราได้ที่ Corporate Innovation
อ้างอิง:
- https://sifted.eu/articles/venture-builder-characteristics/
- https://hatchboost.com/blog/incubator-vs-accelerator-vs-venture-builder/
- https://techjdi.com/blogs/venture-builder-vs-startup-accelerator-vs-startup-incubator/
- https://highalpha.com/startup-incubator-vs-venture-studio-whats-the-difference/
Graphic by:Yasumin Tamrareang
กดเพิ่ม HUBBA เป็นเพื่อน เพื่อติดตามข่าวสารและร่วมสนุกกิจกรรมอื่นๆ ได้แล้วที่ไลน์แอด @hubbathailand