จากบทความที่แล้ว พาไปรู้จักกับ PoC และ Prototype กันไปแล้ว บทความนี้ขอแนะนำต่อกับ MVP ที่หลายคนข้องใจเหลือเกินว่ามันคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรกับธุรกิจสตาร์ทอัพ จะช่วยสร้างองค์กรที่ Lean และ Agile ได้จริงหรือ ไปหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลยค่ะ
ก่อนอื่นขอเท้าความก่อนว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการตื่นตัวในวงการสตาร์ทอัพอย่างมากในการพยายามจะพัฒนาองค์กรให้เป็น Lean Startup หรือหาแนวทางการทำงานให้ agile (ลดขั้นตอนและงานเอกสาร เน้นการสื่อสารในทีม) มากที่สุด จึงเกิดเครื่องมือกลยุทธ์มากมายเพื่อตอบสนองความต้องการนี้ ซึ่ง MVP เองก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เกิดขึ้นเพื่อการนี้ค่ะ
แนวคิดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Proof of Concept, Prototype, Pilot, รวมถึง MVP มีข้อแตกต่างและข้อเหมือนกันหลายจุด จนบางครั้งก็ทำให้สับสนและใช้ปนกันมั่วไปหมด แต่จุดประสงค์หลักที่แนวคิดเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นมาก็เพื่อ สร้างไอเดียในหัวให้เป็นรูปธรรมและนำมาทดลองใช้จริง เพื่อเรียนรู้ให้ไวที่สุดว่าไอเดียนั้น ๆ สิ่งนั้น ๆ ได้ผลลัพธ์ดีตามคาดหรือไม่ คุ้มกับการลงทุนทำต่อหรือไม่ เพื่อให้เจ็บตัวน้อยที่สุด เสียทรัพยากรน้อยที่สุด
MVP หรือ Minimum Viable Product คือ เครื่องมือกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อ ‘ลดความเสี่ยง’ ที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าหรือบริการแล้วดันไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยสร้าง “ผลิตภัณฑ์ตั้งต้น” หรือ “บริการตัวอย่าง” ที่เรียกกันภาษาสตาร์ทอัพว่า MVP ออกไปทดลองตลาดก่อน แล้วนำผลตอบรับมาวิเคราะห์ว่าควรเพิ่ม/ลดฟีเจอร์อะไร หรือควรปรับหน้าตาผลิตภัณฑ์หรือบริการตั้งต้นใหม่หรือไม่ อย่างไร
การทำ MVP จะดึงเพียง “แก่น (core)” ของผลิตภัณฑ์ออกมานำเสนอ และตัดฟังก์ชั่นเสริมต่าง ๆ ที่ยังไม่จำเป็นออกไป เหลือไว้แต่คุณค่าที่แท้จริงที่ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการจะได้รับ เพื่อทดลองว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นที่ต้องการจริงหรือเปล่า
นักธุรกิจหลายท่านมักจะติดกับดักความคิดที่ว่า ‘ผลิตออกไปยังไงก็มีคนซื้อ’
จากภาพตัวอย่างด้านบน(ภาพบน) เป็นเพียงการอุปมาอุปมัยเพื่อให้เห็นภาพขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์
สมมุติว่าบริษัทคุณจะขายรถยนต์ การทำ MVP ไม่ใช่การผลิตชิ้นส่วนทีละชิ้นและให้ลูกค้าทดลองใช้งาน เพราะการผลิตเพียงบางส่วนไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานจริงให้กับลูกค้าได้ เท่ากับว่าสินค้าของคุณยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้จริง ดังนั้นก่อนการสร้าง MVP คุณจะต้องวิเคราะห์ลึกลงไปเพื่อหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าให้ได้ก่อนแล้วจึงสร้างสินค้าหรือบริการที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์ขั้นพื้นฐานขึ้นเพื่อทดลองกับลูกค้า เช่นในภาพตัวอย่างด้านบน
คุณจะเห็นว่าบริษัทรถยนตร์เริ่มจากการวิเคราะห์หาว่าอะไรคือปัญหาหรือความต้องการจริง ๆ ของลูกค้า ซึ่งบริษัทนี้พบว่า สิ่งที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ คือ ‘ลูกค้าต้องการเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น’ ทีมจึงเริ่มนำ ‘ล้อ’ มาใช้เพื่อช่วยให้การเคลื่อนที่ได้ไวขึ้น และนำมาติดกับแผ่นไม้เพื่อให้คนขึ้นไปยืนได้ และนำทดลองการใช้งานจริง แต่พบว่ามันยังไม่ดีพอ จึงเริ่มนำไปพัฒนาต่อจนกลายเป็นรถยนตร์ที่ลูกค้าพึงพอใจ แต่จะเห็นได้ว่าตั้งแต่การผลิต MVP ชิ้นแรกก็สามารถตอบโจทย์ ‘ความต้องการเดินทางที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้นให้กับลูกค้าได้แล้ว’
คราวนี้ลองมาดูตัวอย่างในสถานการณ์จริงกันบ้างค่ะ ก่อนเจ้าแบรนด์นกสีฟ้าจะมาเป็น realtime social network ที่โด่งดังและมีผู้ใช้งานทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ ผู้ก่อตั้ง Twitter เคยทำให้มันเป็นเว็บรวมรายการเสียงสด ที่ชื่อว่า Odeo มาก่อน แต่ต้องมาเจอกับระบบ podcast บน iTune ของ Apple ทำให้สู้ไม่ไหว ต้องสุมหัวกันหาทางออกอย่างเร่งด่วน
จนเกิดเป็นไอเดียเว็บที่ดัดแปลง ‘status’ ที่ผู้ใช้งานแปะกันหลังชื่อในโปรแกรมแชทมาเป็นโพสต์ที่สามารถพิมพ์อัพเดตลงโซเชียลมีเดียให้เพื่อนในกลุ่ม หรือคนที่กดติดตามกันเห็นได้ และเกิดเป็น Twitter ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
MVP ของ twitter ในช่วงแรกยังเป็นเพียงโพสต์ข้อความ ที่ยังใส่รูป คลิป หรือลิงก์ไม่ได้ เพื่อบอกสถานะหรืออารมณ์ สถานการณ์ของผู้ใช้งานแบบ realtime ซึ่งจากการทดลองใช้งานกันเองในบริษัท Odeo ปรากฏว่าพนักงานก็ใช้กันจนติดงอมแงม จึงนำไปเปิดตัวในงาน SXSW ในปี 2007 ให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองทวีตข้อความที่เกียวข้องกับงาน และแสดงผลแบบเรียลไทม์บนจอ ทำให้มีคนสนใจสมัครและเข้ามาใช้งานจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสได้ทดสอบผลิตภัณฑ์และโปรโมตไปด้วยในตัว จากนั้นก็พัฒนาแอปพลิเคชันมาเรื่อย ๆ และเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน
วิธีการสร้าง MVP ก่อนปล่อยผลิตภัณฑ์จริง เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการบาดเจ็บทางการเงินของเหล่านักธุรกิจในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างดี เพราะต้นทุนการผลิตมีค่อนข้างจำกัด หากลงทุนไปแล้วไม่เป็นอย่างที่หวังก็ยิ่งทำให้ท้อ เสียเวลา เสียแรง เสียเงินลงทุนไปเปล่า ๆ แต่ถ้าเริ่มจากเล็ก ๆ ค่อย ๆ ทดลองความต้องการของตลาด และปรับปรุง พัฒนาไปเรื่อย ๆ ถึงจะล้มก็ล้มบนฟูก เจ็บตัวแต่แลกมาด้วยข้อมูลเพื่อนำไปลุยต่อได้ค่ะ
ในทางกลับกันหากบริษัทมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวเต็มที่มีฟีเจอร์ให้ใช้งานเยอะแยะไปหมด โดยที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใช้ในวงกว้างมีความต้องการอะไร ผลิตไปแล้วจะมีคนใช้หรือเปล่า อาจทำให้เสียเวลาในการผลิต ใช้ต้นทุนเยอะ มีความเสี่ยงสูง และอาจจะล่าช้าจนโดนคู่แข่งตัดหน้าไปก่อนก็ได้
MVP จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่หลายบริษัทในปัจจุบันนำมาใช้ เพื่อทดสอบสมมุติฐาน หรือประเมินความต้องการตลาด (Market validation) ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จะรอดหรือไม่ ซึ่งสามารถบ่งชี้ความอยู่รอดของธุรกิจสตาร์ทอัพในระยะยาวจากการทำ MVP ได้ แถมยังช่วยให้ธุรกิจค้นหา core หลัก ของตัวเองได้ ว่าจุดแข็งหรือจุดขายของบริษัทคืออะไร และนำไปพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ตอบโจทย์ตลาดยิ่งขึ้น
- https://startitup.in.th/mvp-the-startup-needs-to-know/
- https://blog.crisp.se/2016/01/25/henrikkniberg/making-sense-of-mvp